ยา 7 กลุ่มที่ต้องมีติดบ้านช่วงน้ำท่วม

น้ำท่วม เป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายได้อย่างมหาศาล ซึ่งนอกจากความเสียหายทางทรัพย์สินแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ประสบภัยด้วย เช่น ได้รับบาดเจ็บจากสภาพแวดล้อมรอบข้าง โดนของมีคมบาด สัตว์มีพิษกัดต่อย โรคร้ายที่มากับน้ำท่วม เป็นต้น ยาสามัญประจำบ้านจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรมีติดบ้านไว้ให้ครอบคลุมที่สุด วันนี้เภสัชกรมียา 7 กลุ่มที่ต้องมีติดบ้านช่วงน้ำท่วมมาฝากกันค่ะ 

 

ยาแก้ปวด 

ยาแก้ปวดอย่างพาราเซตามอล มีสรรพคุณแก้ปวด ลดไข้ สำหรับผู้ใหญ่ใช้ยาขนาด 500 มก. ส่วนเด็กใช้ตามน้ำหนักตัว สำหรับผู้ที่เป็นโรคตับ อาจเปลี่ยนเป็นยาแก้ปวดชนิดอื่นแทน เพราะการใช้ยาพาราเซตามอลมากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับ ข้อควรระวังในการใช้ยา คือ ไม่ควรรับประทานเกิน 8 เม็ดต่อวัน และไม่ควรใช้ต่อเนื่องเกิน 3 - 5 วัน

ยารักษาน้ำกัดเท้า

ยากลุ่มนี้มีหลายประเภท เป็นครีม ขี้ผึ้ง หรือเป็นยาชนิดน้ำก็ได้ ตัวยาช่วยแก้คัน นิยมทำเป็นยาขี้ผึ้งเพราะตัวยาจะอยู่กับผิวได้นานกว่า ไม่ละลายน้ำออกไป แล้วก็ราคาถูกด้วย โดยยากลุ่มนี้ ควรใช้ต่อเนื่องอย่างน้อย 3 - 4 สัปดาห์ เพื่อให้แน่ใจว่าหายขาดแล้ว

 

ยากันยุงแบบต่าง ๆ 

มีหลายแบบ เช่น ชนิดน้ำ โลชั่น ชนิดแป้ง ชนิดครีม ชนิดสเปรย์ เป็นผ้าเย็น หรือเป็นขดจุดไล่ยุง ระยะเวลาของการออกฤทธิ์ขึ้นกับชนิดของสารที่ใช้ หากออกฤทธิ์นานหลายชั่วโมง ก็ไม่จำเป็นต้องใช้บ่อย

ข้อควรระวังในการใช้ เนื่องจากเป็นวัตถุอันตราย การใช้ควรใช้จำกัดบริเวณ เช่นทาเป็นที่ ๆ ไป บริเวณแขน ขา ทาเว้นระยะห่าง ไม่จำเป็นต้องทาทั้งตัว ส่วนใบหน้า ต้นคอ ก็ควรเว้นเพราะอาจทำให้ระคายเคืองได้

 

ยาบรรเทาอาการคัน

ยาบรรเทาอาการคันนั้นมีหลายชนิด ซึ่งยาหม่องเป็นยาชนิดหนึ่งที่ช่วยบรรเทาอาการคันได้ โดยใช้ทาบาง ๆ บริเวณที่มีอาการ แต่หากมีอาการบวมร่วมด้วย ไม่ควรทายาหม่องเพราะจะทำให้บวมมากขึ้น ควรใช้ผ้าเย็นประคบก่อน นอกจากนี้ ยาแก้คัน ยังมีอีกหลายประเภท อาจใช้เป็น คาลาไมน์ ยาชนิดน้ำ หรือครีมกลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งจะลดอาการอักเสบหรือแพ้ของผิวหนังได้ด้วย 

 

ยาแก้แพ้

ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮีสตามีนเป็นยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป มีสรรพคุณช่วยลดน้ำมูก ไอ จาม ผื่นคัน ลมพิษ ปริมาณยาที่ต้องทานอาจไม่เท่ากันขึ้นอยู่ยาแต่ละชนิด ดังนั้นควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง 

 

ยาแก้ท้องร่วงท้องเสีย

สรรพคุณจะช่วยให้ร่างกายได้รับเกลือแร่ที่สูญเสียไป ปริมาณการใช้ขึ้นอยู่กับอาการท้องเสีย ควรสังเกตว่าอาการท้องร่วงนั้นมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อหรือเปล่า ลักษณะอุจจาระเป็นอย่างไร เป็นน้ำหรือถ่ายเหลว เพื่อพิจารณาการใช้ยาได้ถูกต้อง หากถ่ายเหลวบ่อย ในระยะแรกควรใช้ผงเกลือแร่ละลายน้ำจิบทีละน้อย ไม่ควรดื่มทีเดียวจนหมด เพราะอาจทำให้ถ่ายเหลวมากขึ้น 

นอกจากนี้ การให้ยาเพื่อหยุดถ่าย ต้องใช้ตามความจำเป็น เพื่อไม่ให้ลำไส้หยุดทำงานโดยไม่จำเป็น ยาที่ใช้ในกรณีอาหารเป็นพิษ คือพวกยาเม็ดถ่าน จะช่วยดูดซับสารพิษได้ กรณีที่ไม่ได้ติดเชื้อไม่ควรใช้ยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็น

 

อุปกรณ์ทำแผล 

อุปกรณ์ทำแผลหรือปฐมพยาบาลเบื้องต้นมีหลายชิ้น เช่น น้ำเกลือ แอลกอฮอล์ ยาใส่แผล พลาสเตอร์ปิดแผล เป็นต้น โดยก่อนทายาลงไปบนแผล ต้องล้างแผลให้สะอาดก่อน ในกรณีที่แผลเปิด ให้ใช้น้ำสบู่เหลวหรือน้ำสะอาดเพื่อขจัดสิ่งสกปรก จากนั้นใช้แอลกอฮอล์เช็ดรอบแผลก่อนทายาฆ่าเชื้อ หากแผลปิดหรือเป็นแผลถลอกเพียงเล็กน้อย อาจทาครีมกรณีป้องกันไม่ให้ผิวหนังระคายเคือง กรณีทายาฆ่าเชื้อ อาจใช้ยากลุ่มไอโอดีน หรือเบตาดีน หากต้องป้องกันการติดเชื้ออาจใช้ยาครีมประเภทที่ผสมยาฆ่าเชื้อ โดยทาแผลเช้า เย็น หากล้างแผลบ่อยหรือลงน้ำก็ควรทาซ้ำอีกครั้ง

 

ยาบางชนิดที่กล่าวมาเป็นยาที่ต้องระมัดระวังการใช้ เช่น ยาที่มีสเตียรอยด์ ยาแก้อักเสบ ยาปฏิชีวนะ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา ส่วนการเก็บรักษายาระหว่างน้ำท่วม ควรเก็บยาให้พ้นน้ำ ไม่ให้เกิดความชื้น หลังใช้ควรปิดบรรจุภัณฑ์ให้สนิท และทำตามข้อคำแนะนำบนฉลากยา 

 

ยา 7 กลุ่มที่ต้องมีช่วงน้ำท่วม

 

อ่านอะไรต่อดี ? 

โรคตาแดง ป้องกันและรักษาอย่างไรดี

9 ปัญหาสุขภาพ โรคภัย ที่ควรระวังช่วงน้ำท่วม

โรคฉี่หนู อาการ แนวทางการรักษา ต้องระวังอะไรบ้าง