คำถามยอดฮิต โรคเริมกับการรักษาและการใช้ยาที่ถูกต้อง

เริมเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Herpe Simplex Virus (HSV) ซึ่งจะมีอยู่ 2 ชนิด คือ HSV-1 และ HSV-2 โรคเริมพบได้มากที่บริเวณ ปาก อวัยวะเพศ ทวารหนัก บั้นท้าย หรือต้นขา ซึ่งอาการของโรคที่เกิดในแต่ละบริเวณก็จะคล้ายกัน โดยอาการของโรคจะแบ่งง่าย ๆ เป็น 3 ระยะ ได้แก่

 

  1. ผู้ป่วยที่เป็นครั้งแรก จะมีอาการปวดแสบ บริเวณที่ได้รับเชื้อ และ 2 - 3 วันต่อมาจะเริ่มมีอาการบวม มีตุ่มน้ำใส ถ้าตุ่่มน้ำใสแตกออกมาก็จะกลายเป็นแผลตกสะเก็ด และแผลจะหายภายใน 2 - 3 สัปดาห์ และระหว่างนี้อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย เป็นต้น 

 

  1. ระยะปลอดอาการ คือจะไม่มีอาการแสดงของโรคเริม แต่เชื้อยังอยู่ในร่างกายของเรา

 

  1. ระยะที่กลับมาเป็นซ้ำ ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการคัน แสบร้อนนำมาก่อน ต่อมาจะมีตุ่มน้ำใสเกิดขึ้น แต่อาการจะน้อยกว่าตอนเป็นครั้งแรก โดยจะมีจำนวนตุ่มน้ำใสน้อยกว่า และตุ่มมีขนาดเล็กกว่า

 

สิ่งที่ต้องกังวลเมื่อเป็นโรคเริมคือ เริมเป็นโรคที่รักษาไม่หาย เพราะเชื้อไวรัสที่ก่อโรคจะไปแฝงอยู่บริเวณปมประสาท เมื่อภูมิต้านทานในร่างกายของเราต่ำลง เช่น นอนพักผ่อนไม่พอ เกิดความเครียด หรือมีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน อาการของโรคเริมก็จะแสดงออกมา ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงปัจจัยหรือสิ่งที่กระตุ้นให้เริมกลับมาเป็นซ้ำ หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น และหากมีเพศสัมพันธ์ก็ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสด้วย

 

โรคเริม รักษาอย่างไร ?

  • สำหรับคนที่อาการไม่รุนแรง หรือเป็นอาการของโรคเริมที่กลับมาเป็นซ้ำ ควรพักผ่อนให้เยอะ ๆ และดื่มน้ำให้มาก ๆ ก็จะสามารถหายเองได้เองใน 2 สัปดาห์
  • สำหรับคนที่มีอาการรุนแรง ปวดแสบร้อน มีตุ่มน้ำแตก สามารถรักษาด้วยยาต้านไวรัสชนิดรับประทานและชนิดทา เช่น Acyclovir, Famciclovir, Valacyclovir โดยควรรับประทานให้เร็วที่สุดภายใน 48 ชั่วโมงหลังเริ่มมีอาการ 
  • ถ้ามีอาการไข้ อ่อนเพลีย มีอาการปวดแผลร่วมด้วย ก็สามารถรับประทานยา Acetaminophen, Ibuprofen ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป

 

ส่วนวิธีการรับประทานยาต้านไวรัสของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ควรได้รับการประเมินความรุนแรงของโรคจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อน อีกทั้งยายังมีหลายขนาดด้วยกัน เช่น ถ้ารับประทานยาต้านไวรัส ขนาด 200 mg ก็จะรับประทานยาวันละ 5 ครั้ง, ทานยาขนาด 400 mg รับประทานวันละ 3 ครั้งเป็นต้น ส่วนบางรายอาจใช้ยาทาวันละ 5 ครั้งร่วมด้วย

 

การรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ การมีวินัยในการกินยาและต้องพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะตัวยาต้านไวรัสเป็นเพียงการยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไม่ให้เพิ่มจำนวนเท่านั้น และควรจะพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายเรามีภูมิคุ้มกันที่จะช่วยฆ่าไวรัสนี้ได้ ส่งผลให้รอยโรคทางผิวหนังหายได้เร็วขึ้น และลดระยะเวลาการปวดแผล ดังนั้น ผู้ป่วยไม่ควรเลือกซื้อยาเอง ควรใช้ยาภายใต้คำการดูแลของแพทย์และเภสัชกร เพื่อจะได้รับการรักษาด้วยยาที่ถูกต้องและปลอดภัยนะคะ

 

 

ผู้เขียน

ธมนวรรณ พรพาณิชเจริญ 

เภสัชกร 

 

อ่านอะไรต่อดี ? 

ดูแลตนเองอย่างไร เมื่อเป็น “โรคเริม”

เคยเป็น “อีสุกอีใส” แล้วจะเสี่ยงโรค “งูสวัด” จริงหรือ ?

มือเท้าปาก โรคยอดฮิตเด็กอนุบาล

 

หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา และปัญหาเรื่องสุขภาพ สามารถปรึกษาเภสัชกรออนไลน์ได้ที่ ปวด ป่วย อาย จาม "ถามMacy" เรายินดีให้คําปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพ