ตากระตุก “ขวาร้าย ซ้ายดี” แค่ความเชื่อ หรือแฝงอันตราย

สมัยก่อนจะมีคำโบราณที่พูดว่า “ขวาร้าย ซ้ายดี” ซึ่งเป็นความเชื่อของคนไทยมานาน โดยเป็นความเชื่อที่เกิดจากอาการตากระตุก ซึ่งหากตากระตุกไม่กี่ครั้งก็คงไม่ได้คิดอะไร แต่ถ้าตากระตุกทั้งวันไม่ยอมหยุดเลย อาจจะสร้างความรำคาญและมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ที่สำคัญ อาการตากระตุกยังอาจเป็นสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพอย่างอื่นได้อีกด้วย แล้วตากระตุกแบบไหนที่ต้องรีบไปพบแพทย์ ? ลองมาดูในบทความนี้กันค่ะ

 

อาการตากระตุก คืออะไร

อาการตากระตุก เกิดจากการที่กล้ามเนื้อรอบดวงตามีการเกร็งกระตุก หดตัวผิดปกติ มักเริ่มจากอาการเล็กน้อย และค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น บางรายมีอาการรุนแรงถึงขั้นรบกวนการมองเห็น ตาปิดและลืมตาไม่ขึ้น อาการตากระตุกส่วนใหญ่มักเกิดจากการได้รับปัจจัยกระตุ้นอย่างเป็นโรคตาหรือโรคเกี่ยวกับกระจกตา

 

ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการตกกระตุก

  • นอนหลับไม่เพียงพอ
  • มีความเครียดสะสมเป็นเวลานาน
  • ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือแอลกอฮอล์มากเกินไป
  • สูบบุหรี่มากเกินไป
  • เจอแสงสว่างจ้า โดนลมหรือมลพิษทางอากาศ
  • ตาล้า ตาแห้ง
  • เกิดการระคายเคืองที่เปลือกตาด้านใน 
  • เป็นโรคภูมิแพ้
  • ขาดวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารบางชนิด
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด

 

อาการของตากระตุก

  • กะพริบตาถี่ขึ้นหรือเปลือกตากระตุก อาจเกิดข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้
  • กรณีตากระตุกรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการตาค้าง หรือไม่สามารถลืมตาขึ้นเองได้ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นแบบไม่รู้ตัว เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้

 

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์

โดยส่วนใหญ่อาการตากระตุกมักจะไม่รุนแรง สามารถหายได้เองอย่างรวดเร็ว แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

  • มีอากาารตากระตุกติดต่อกันนานเป็นเวลา 2 สัปดาห์ขึ้นไป
  • เมื่อเกิดอาการตากระตุกแล้ว เปลือกตาปิดสนิททันที
  • มีตำแหน่งที่เกิดตากระตุกเพิ่มขึ้น อาจเป็นที่ตาอีกข้างหนึ่ง เช่น ตาขวากระตุก แล้วตาซ้ายกระตุกตาม หรือเป็นที่บริเวณอื่นของใบหน้า
  • บริเวณที่เกิดตากระตุกมีอาการอ่อนแรงหรือหดเกร็ง
  • มีอาการบวม แดง หรือมีสารคัดหลั่งไหลออกมาจากดวงตา
  • เปลือกตาด้านบนห้อยย้อยลงมา รบกวนการมองเห็น

 

อาการตากระตุกไม่ได้อันตราย แต่อาจสร้างความรำคาญให้กับเราได้ เราจึงควรดูแลและคอยสังเกตตัวเองให้ดี หากพบว่ามีอาการตากระตุกบ่อยครั้ง ควรสังเกตว่าเราได้รับปัจจัยกระตุ้นใดที่ทำให้เกิดอาการตากระตุก แล้วจึงหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้น แต่ถ้ามีอาการตากระตุกเป็นเวลานาน ดูแลตัวเองแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและได้รับการรักษาที่เหมาะสม



ผู้เขียน

สิราวรรณ ล้วนสุธรรม 

เภสัชกร

 

หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา และปัญหาเรื่องสุขภาพ สามารถปรึกษาเภสัชกรออนไลน์ได้ที่ ปวด ป่วย อาย จาม "ถามMacy" เรายินดีให้คําปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพ

 

อ่านอะไรต่อดี ?

วิธีเลือกวีลแชร์ให้เหมาะกับผู้สูงอายุ

สูงวัยต้องรู้ ผู้สูงอายุใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัย ?

ตีบ ตัน แตก รู้ทันหลอดเลือดสมอง