ความดันสูง โควิด เสี่ยงชีวิต

แค่ความดันโลหิตอย่างเดียวก็น่ากลัวพอแล้ว ต้องวัดความดันด้วยความระวัง ยิ่งบวกโควิด-19 เข้าไปยิ่งน่ากลัวว่าเดิมหลายเท่า! วันนี้เภฯมีข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับความดันโลหิต และโควิดมาฝากกันค่ะ

ความดันโลหิตสูง เป็นภัยเงียบที่มักไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า โดยเฉพาะในยุคที่มีเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดดังเช่นทุกวันนี้ ความดันโลหิตสูงยิ่งทวีความรุนแรงน่ากลัว เพราะภาวะนี้จะกลายเป็นปัญหาสุขภาพที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรืออาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

บทความนี้จะบอกให้ผู้อ่านทราบว่า ความดันโลหิตมีผลกับการติดเชื้อโควิดอย่างไร รุนแรงแค่ไหน เราสามารถควบคุมความดันโลหิตได้อย่างไรบ้าง และก่อนไปฉีดวัคซีน ผู้ป่วยความดันโลหิตต้องเตรียมตัวอย่างไร

 

ความดันโลหิตสูง+โควิด19 เสียชีวิตมาก

แม้ภาวะความดันโลหิตสูงจะไม่ถูกจัดอยู่ใน 7 กลุ่มโรคเรื้อรังก็ตาม (7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน)

มีรายงานออกมาว่า ผู้ป่วยโควิดที่มีภาวะความดันโลหิตสูง มีอัตราการเสียชีวิตมากเป็นอันดับหนึ่ง

มีข้อมูลทางการแพทย์จากกรมควบคุมโรคบอกไว้ว่า เมื่อผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงติดเชื้อโควิด-19 จะทำให้เกิดความผิดปกติได้หลายแบบ ดังนี้

  • หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ ร้อยละ 17
  • ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ร้อยละ 7
  • ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ร้อยละ 9 จนทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้

 

ไวรัสโควิดส่งผลต่อผู้ป่วยความดันโลหิตสูงอย่างไร

อย่างที่ทราบกันดีว่า เชื้อโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจโดยตรง ทำให้เกิดปอดบวมได้บ่อย แต่ไม่ใช่แค่นั้น ไวรัสโควิด-19 ยังมีผลต่อระบบหัวใจด้วย ซึ่งภาวะความดันโลหิตสูงจะทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว และมีผลเสียต่อหลอดเลือดหัวใจ อาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ก้อนไขมันในหลอดเลือดปริแตก หรืออาจทำให้หัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือหัวใจวายได้

 

ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงกับการฉีดวัคซีน

สำหรับผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงและไม่ได้มีโรคแทรกซ้อน ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • ต้องมีระดับความดันโลหิตไม่เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท
  • ควรงดเว้นการออกกำลังกาย 2 - 4 ชั่วโมง หลังเข้ารับการฉีดวัคซีน เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว หรือมีไข้ เป็นต้น
  • หากเป็นผู้สูงอายุที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ควรรับประทานยาสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ แต่หากมีความดันสูงเกินระดับปกติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับยาหรือปรับแผนการรักษา
  • ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง สามารถทานยาประจำตัวได้ตามปกติ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ทานยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือด ควรแจ้งแพทย์ทันทีก่อนทำการฉีดวัคซีน เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนได้ เช่น มีเลือดออกในกล้ามเนื้อบริเวณจุดที่ฉีด มีอาการบวม หรือมีรอยช้ำ ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยกดบริเวณที่ฉีดวัคซีนเป็นเวลา 5 นาที และสังเกตว่ามีอาการบวมหรือมีรอยช้ำหรือไม่

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ความดัน กับ วัคซีนโควิด-19