มะเร็งช่องปาก

หากใครมีปัญสุขภาพฟันไม่ดี ทั้งฟันผุเรื้อรัง ฟันหัก ฟันบิ่น ฟันแตก จะทำให้ระคายเคืองเนื้อเยื่อบุช่องปาก เมื่อเกิดการระคายเคืองซ้ำ ๆ หรือเกิดอักเสบแล้วปล่อยไว้ไม่รักษา ระวังจะกลายเป็นเซลล์มะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งในช่องปากที่จัดอยู่ใน 10 อันดับแรกของมะเร็งที่พบได้มากที่สุดในประเทศไทย 

 

อันตรายจากมะเร็งในช่องปาก

มะเร็งในช่องปากเป็นเนื้อร้ายที่พบในช่องปาก ในบางกรณีพบว่าเซลล์มะเร็งเกิดขึ้นที่ต่อมทอนซิลด้านหลังช่องปาก มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป หากใครเป็นมะเร็งช่องปากชนิด Squamous Cell Carcinoma จะมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่า 50%

 

วิธีสังเกตอาการ “มะเร็งในช่องปาก” อย่างง่าย ๆ

  1. มีแผลคล้ายแผลร้อนในเรื้อรังในช่องปากนานกว่า 2 - 3 สัปดาห์ หรือรักษาไม่หาย
  2. มีฝ้าขาวหรือฝ้าแดง บริเวณเยื่อบุในช่องปากหรือลิ้น เป็นรอยอยู่นาน
  3. มีก้อนเนื้อบริเวณลำคอ กดแล้วไม่เจ็บ ต้องระวังอาจเกิดการลุกลามของเซลล์มะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลือง
  4. มีตุ่ม หรือก้อนในช่องปาก ขนาดของก้อนจะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่มีอาการปวด
  5. กลืน เคี้ยวอาหารลำบาก พูดหรืออ้าปากได้น้อย มีอาการเจ็บในหู เสียงเปลี่ยน
  6. บางรายอาจมีก้อนเนื้องอกบริเวณเหงือก เพดานปาก หรือพื้นปาก จะมีอาการฟันโยก หรือฟันหลุด
  7. อาจมีอาการชา เจ็บ หรือเลือดไหลในช่องปากโดยไม่ทราบสาเหตุ
  8. น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว

 

การดูแลเพื่อป้องกันมะเร็งในช่องปาก

  1. งดสูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  2. รับประทานผักใบเขียวและผลไม้ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีวิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินอี
  3. แปรงฟันแบบถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และบ้วนปากหลังรับประทานอาหารทันทีทุกมื้อ
  4. หากมีปัญหาเกี่ยวกับฟัน ควรรีบพบทันตแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษา
  5. สำหรับผู้ที่ใส่ฟันปลอม ควรถอดฟันปลอมมาทำความสะอาดหลังมื้ออาหาร และก่อนนอนควรถอดฟันปลอมออกทุกครั้ง
  6. มั่นไปตรวจสุขภาพช่องปากและฟันทุก 6 -12 เดือน

 

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบวิธีการป้องกันมะเร็งในช่องปากอย่างแน่ชัด แต่เราสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ ด้วยการดูแลสุขภาพช่องปากถูกวิธี และหมั่นไปพบทันตแพทย์เพื่อทำความสะอาดช่องปากและตรวจคัดกรองมะเร็งช่องปากไปพร้อมกันค่ะ



ผู้เขียน

สิราวรรณ ล้วนสุธรรม 

เภสัชกร 

 

หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา และปัญหาเรื่องสุขภาพ สามารถปรึกษาเภสัชกรออนไลน์ได้ที่ ปวด ป่วย อาย จาม "ถามMacy" เรายินดีให้คําปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพ