เมื่อลูกมีไข้ พ่อแม่ควรรับมืออย่างไรดี ?

ภาวะไข้ในเด็ก เป็นภาวะที่ทำให้ตัวน้องมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติ (ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป) ทำให้เด็กมีอาการตัวร้อน หน้าแดง ตัวแดง แต่บางคนอาจมีอาการปลายมือปลายเท้าเย็นและซีด ทำให้พ่อแม่บางคนอาจไม่ทันสังเกตเห็นว่าลูกกำลังมีไข้สูง จนกว่าจะวัดอุณหภูมิจึงจะรู้ว่าลูกกำลังเป็นไข้ อีกทั้งพ่อแม่บางคนอาจตกใจและไม่รู้วิธีลดไข้ที่ถูกต้อง วันนี้เภสัชกรจะมาบอกวิธีรับมือเมื่อลูกเป็นไข้กันค่ะ 

 

ไข้เกิดจากอะไร

ภาวะไข้ เป็นภาวะที่ร่างกายต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย โดยส่วนใหญ่เกิดจากติดเชื้อไวรัส และเป็นกระบวนการรักษาตนเองของร่างกายตามธรรมชาติให้ผลิตความร้อนเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอม โดยทั่วไปไข้ที่เกิดจากเชื้อไวรัสจะมีอาการประมาณ 2 - 3 วัน แต่หากมีไข้นานเกิน 3 วัน ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ เพราะอาจเกิดโรคแทรกซ้อน หรือเป็นโรครุนแรงอื่น ๆ 

 

วิธีการวัดไข้ (วัดอุณหภูมิ)

วิธีการวัดไข้สามารถทำได้หลายวิธีและวัดไข้ได้หลายจุดบนร่างกาย เช่น

  • วัดไข้ทางปาก ให้อมเทอร์โมมิเตอร์ไว้ใต้ลิ้นนาน 3 - 5 นาที ข้อควรระวัง ไม่ควรวัดหลังจากดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำเย็นภายใน 15 นาที
  • วัดไข้ทางรักแร้ ให้วัดโดยการหนีบปรอทไว้ที่รักแร้นาน 1 - 2 นาทีหรือจนกว่าจะมีเสียงเตือน

 

เมื่อลูกมีไข้ควรทำอย่างไรดี ?

เมื่อคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีไข้ สิ่งที่ควรทำคือตรวจวัดอุณหภูมิลูกน้อยทุก 4 ชั่วโมง และสังเกตอาการอื่น ๆ เช่น ตัวร้อน หน้าแดง หรือกระสับกระส่าย  โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลดไข้ให้ลูกรักได้หลายวิธี เช่น 

 

  1. ดื่มน้ำ หรือน้ำหวาน น้ำผลไม้ให้มากขึ้น โดยให้ดื่มครั้งละน้อย ๆ แต่ดื่มบ่อย ๆ เพื่อชดเชยการขาดน้ำ
  2. เช็ดตัวลดไข้โดยใช้น้ำอุณหภูมิห้องหรือน้ำอุ่นเล็กน้อย นานประมาณ 15 - 20 นาที จนกว่าไข้จะลด เช็ดทุกส่วนของร่างกายเน้นบริเวณข้อพับ หากหนาวสั่นให้หยุดเช็ดตัวทันที
  3. นอนในที่อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ควรปรับให้ลมจากพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศเย็นจนเกินไป หรือลมจ่อที่ตัวเด็ก
  4. หากมีไข้สูงกว่า 37.8 องศาเซลเซียส ควรรับประทานยาลดไข้ อย่าง พาราเซตามอล หากใช้ยาติดต่อกัน 3 วันแล้วยังมีไข้ ควรรีบพาน้องไปพบแพทย์เพื่อความปลอดภั

 

กรณีไข้สูง (อุณหภูมิตั้งแต่ 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป) ให้ปฏิบัติเหมือนกับกรณีไข้ต่ำร่วมกับให้ยาลดไข้ โดยมีคำแนะนำเพิ่มเติม ดังนี้ 

  1. ควรให้เด็กรับประทานยาลดไข้ก่อนการเช็ดตัว โดยเฉพาะเด็กที่มีประวัติเคยชัก เมื่อมีไข้ควรรีบเช็ดตัว เพื่อให้ไข้ลดลงโดยเร็วที่สุด
  2. ติดตามวัดอุณหภูมิหลังเช็ดตัวทุก 30 นาที หรือหลังให้ยาลดไข้ 1 ชั่วโมง โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถเช็ดตัวเพื่อลดไข้ซ้ำได้ 4 - 6 ชั่วโมง หรือจนกว่าไข้ลง 

 

จุดที่ต้องระวัง

นอกจากการช่วยลดไข้ให้น้องแล้ว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือ คอยสังเกตอาการผิดปติอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น หากลูกรักมีไข้ร่วมกับมีอาการซึม ชัก ไอ หอบ เจ็บคอ เจ็บหู อุจจาระร่วง อาเจียนมาก หรือปวดศีรษะมาก ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด โดยควรระวังอาการชักที่เกิดจากไข้สูง ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี โดยเฉพาะเด็กที่เคยมีประวัติชักจากไข้สูง หรือมีคนในครอบครัวเคยชักจากไข้สูงมาก่อน

 

หากเจ้าตัวน้อยมีไข้ เราไม่ควรปล่อยให้เขาตัวร้อนจัด เพราะเด็กอาจชักจากอาการไข้สูงได้ โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ระบบประสาทส่วนกลางจะยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ หากมีอาการชักบ่อย ๆ จะทำให้เซลล์สมองถูกทำลาย ส่งผลต่อระดับสติปัญญาและการทำงานของสมองในอนาคต ดังนั้น หากให้น้องทานยาและเช็ดตัวแล้วอาการไข้ของลูกน้อยยังไม่ดีขึ้น ให้รีบพาน้องไปพบแพทย์เพื่อความปลอดภัยของลูกรักของเรา

 

 

ผู้เขียน

สิราวรรณ ล้วนสุธรรม 

เภสัชกร

 

หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา และปัญหาเรื่องสุขภาพ สามารถปรึกษาเภสัชกรออนไลน์ได้ที่ ปวด ป่วย อาย จาม "ถามMacy" เรายินดีให้คําปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพ