ถ่ายเป็นเลือด สัญญาเตือนหลากโรคร้าย !

การถ่ายอุจจาระ ถือเป็นกิจวัตรที่เราควรทำให้ได้อย่างน้อยวันละครั้ง แต่หากเริ่มมีอาการถ่ายเป็นเลือดร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณเตือนของความผิดปกติภายในระบบทางเดินอาหาร โดยเราสามารถสังเกตความรุนแรงของโรคได้จากหลายปัจจัย ทั้งจำนวนครั้งที่ถ่ายเป็นเลือด ปริมาณเลือดที่ออกมา ซึ่งการที่มีเลือดหยดหลังจากถ่ายอุจจาระ หรืออุจจาระมีเลือดปน อาจไม่ได้เกิดจากบาดแผลที่เส้นเลือดดำส่วนปลายรูทวารเพียงอย่างเดียว แต่อาจบ่งบอกถึงโรคร้ายต่าง ๆ ได้เช่นกัน

 

ถ่ายเป็นเลือด เป็นสัญญาณของโรคอะไรบ้าง ? 

  • โรคริดสีดวงทวาร

หนึ่งในอาการหลักของโรคริดสีดวงทวาร คือ มีเลือดปนออกมาเมื่อขับถ่าย หรือมีเลือดออกเป็นหยดหลังการถ่าย ส่วนอุจจาระจะมีสีปกติ ซึ่งเป็นอาการหลักของโรคนี้ และจะมีติ่งริดสีดวงที่ปลายทวาร ไม่ยุบลงไป มักเกิดในผู้ที่ต้องออกแรงเบ่งอุจจาระจากอาการท้องผูกหรือท้องเสียเป็นเวลานาน

 

  • เลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก

ช่วงแรกผู้ป่วยบางรายจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือดก่อน จากนั้นจะมีการถ่ายเป็นเลือด สีจะเข้มจนเกือบดำ กลิ่นเหม็นมากผิดปกติ บางรายอาจรู้สึกอ่อนเพลีย หน้ามืด เหนื่อยง่าย  

 

  • เลือดออกในลำไส้ใหญ่

โดยจะมีอาการถ่ายเป็นเลือดสดหรือมีลิ่มเลือดปนออกมาพร้อมอุจจาระ แต่ไม่มีอาการปวดแสบทวารหนักหรือคลำเจอก้อนบริเวณทวารหนัก 

 

  • ลำไส้ใหญ่อักเสบ

มีอาการถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายบ่อย ถ่ายเป็นมูกเลือด หรือถ่ายเป็นเลือด ร่วมกับมีไข้ เบื่ออาหาร ปวดท้อง 

 

  • โรคลำไส้ขาดเลือด

เกิดจากเลือดไม่สามารถเข้าไปเลี้ยงผนังลำไส้ ทำให้เซลล์ลำไส้ขาดเลือด รวมทั้งจะมีอาการปวดเกร็งท้อง อาจมีการติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตได้ 

 

  • ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่

มักเกิดจากกรรมพันธุ์ โดยที่ตัวผู้ป่วยไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ แต่จะมีติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ บางครั้งจะมีเลือดออกในลำไส้ใหญ่ร่วมด้วย ทำให้มีเลือดเคลือบผิวอุจจาระที่ขับถ่ายออกมา โดยอาการจะไม่สม่ำเสมอ เป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งติ่งเนื้องอกนี้สามารถพัฒนาเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ แพทย์จึงมักแนะนำให้คนที่อายุมากกว่า 50 ปีตรวจลำไส้ใหญ่เพื่อตรวจหาติ่งเนื้อที่อาจเกิดขึ้น

 

  • มะเร็งลำไส้ใหญ่

มักพบในคนที่อายุมากกว่า 60 ปี โดยผู้ป่วยจะมีอาการขับถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องผูก ท้องเสีย อุจจาระมีเลือดปน เป็นต้น บางรายอาจมีอาการอ่อนเพลียร่วมด้วย หรือเสียเลือดจนเป็นโลหิตจาง มะเร็งชนิดนี้เกิดจากการรับประทานอาหารไขมันสูงเป็นประจำและส่วนหนึ่งเกิดจากกรรมพันธุ์ มักรักษาไม่หายขาด ต้องใช้การส่องกล้องหรือวิธีอื่นเพื่อตรวจหาโรค และตัดเนื้อร้ายออกเพื่อป้องกันการลุกลาม

 

เมื่อเกิดอาการถ่ายเป็นเลือด ควรทำอย่างไร

หากอาการถ่ายเป็นเลือด เลือดออกทางทวาร หรือขับถ่ายไม่ปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ และตรวจร่างกายอย่างละเอียด อย่าชะล่าใจ หากมีอาการรุนแรงหรือเลือดออกมากควรรีบเข้ารับการรักษาในทันที

 

วิธีป้องกันให้ห่างไกลจากอาการถ่ายเป็นเลือด

 

  • รับประทานอาหารมีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช ช่วยให้ขับถ่ายง่ายขึ้น
  • ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2 - 3 ลิตร ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม ขับถ่ายง่ายขึ้น

  • ออกกำลังกายให้เพียงพอ เคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอ ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น

  • ฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา และไม่กลั้นอุจจาระ ช่วยให้ร่างกายทำงานปกติ และลดการอับเสบของกระเพาะและลำไส้

 

นอกจากสาเหตุที่กล่าวมาแล้ว การถ่ายเป็นเลือดบางครั้งอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้อีก เช่น รับประทานอาหารที่มีเลือดสัตว์ หรือยาบำรุงเลือด หากมีอาการถ่ายเป็นเลือด หรือสีอุจจาระคล้ายเลือดเล็กน้อย ให้รับประทานอาหารที่มีกากใย ดื่มน้ำให้มากขึ้น หากมีอาการที่เด่นชัดอย่างมีเลือดออกมาก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา เพื่อป้องกันการลุกลามไปสู่โรคร้ายแรง

 

 

ผู้เขียน

สิราวรรณ ล้วนสุธรรม 

เภสัชกร

 

หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา และปัญหาเรื่องสุขภาพ สามารถปรึกษาเภสัชกรออนไลน์ได้ที่ ปวด ป่วย อาย จาม "ถามMacy" เรายินดีให้คําปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพ