อันตรายถึงตาย ! ดื่มมากไป ระวังภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ

งานเลี้ยงปีใหม่หรือวิธีคลายเครียดของหลาย ๆ คน มักจะมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมอยู่ด้วย แล้วเราก็มักจะเพลินไปกับการดื่มมากเกินไป ซึ่งหากเราดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากและเร็วเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ ซึ่งมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

สาเหตุของภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ

หากเราดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปริมาณมากในเวลาสั้น ๆ จะทำให้ตับไม่สามารถขับแอลกอฮอล์ที่อยู่ในร่างกายออกได้ทัน ซึ่งจะกดระบบประสาททำให้ความยับยั้งชั่งใจลดลง พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ อาการจะขึ้นกับปริมาณความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ที่ดื่ม และความทนต่อแอลกอฮอล์ของแต่ละคน 

 

ซึ่งหากดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 12 ดื่มมาตรฐานอย่างรวดเร็ว (1 ดื่มมาตรฐาน โดยประมาณจะเท่ากับเบียร์ 285 มิลลิลิตร / ไวน์แก้วเล็ก 100 มิลลิลิตร หรือเหล้า 30 มิลลิลิตร) หรือมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จะเกิดแอลกอฮอล์เป็นพิษสูง

 

อาการของภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ

  1. มีอาการกระวนกระวาย สับสน พูดจาไม่รู้เรื่อง
  2. ง่วงซึม นอนเยอะกว่าปกติ
  3. ไม่สามารถทรงตัวได้
  4. อาเจียนรุนแรง หรืออาเจียนเป็นเลือด
  5. อาจรู้สึกตัวแต่ไม่สามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ 
  6. หายใจช้าลง และหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
  7. ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้เกิดอาการชัก หรือเสียชีวิต

 

เมื่อเกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษควรปฐมพยาบาลเบื้องต้น ดังนี้

  1. ควรรีบโทรแจ้งที่เบอร์ 1669 หรือติดต่อรถพยาบาลอย่างเร่งด่วน และไม่ควรปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่ตามลำพัง เฝ้าสังเกตอาการตลอดเวลา
  2. พยายามปลุกให้ผู้ป่วยให้มีสติ พยุงให้อยู่ในท่านั่ง
  3. ถ้าผู้ป่วยรู้สึกตัวดี ควรให้ดื่มน้ำเปล่าตามไปมาก ๆ
  4. ไม่พยายามทำให้ผู้ป่วยอาเจียน เพราะจะระคายเคืองทางเดินอาหาร
  5. หากผู้ป่วยหมดสติ ไม่รู้สีกตัว ให้จับตัวผู้ป่วยนอนตะแคง เฝ้าสังเกตอาการจนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึง

 

วิธีดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ปลอดภัย

  1. รับประทานอาหารรองท้องก่อนดื่มแอลกอฮอล์
  2. อย่าดื่มครั้งละมาก ๆ หรือดื่มเป็นเวลานานเกินไป
  3. ดื่มน้ำเปล่า สลับกับการดื่มแอลกอฮอล์
  4. หากรู้สึกเริ่มมีนเมาแล้ว ควรหยุดดื่ม

 

การที่ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงมาก จะกดระบบประสาทและสมอง ทำให้การรู้สึกตัวลดลง และกดการหายใจ หากใครดื่มแอลกอฮอล์ก็ควรดื่มอย่างมีสติ หลีกเลี่ยงการขับรถ หรือการทำงานกับเครื่องจักร เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ให้เราสังสรรค์อย่างปลอดภัย แต่ถ้าเลือกไม่ดื่มเลยจะเป็นดีต่อสุขภาพเราที่สุด

 

 

ผู้เขียน

สิราวรรณ ล้วนสุธรรม 

เภสัชกร

 

หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา และปัญหาเรื่องสุขภาพ สามารถปรึกษาเภสัชกรออนไลน์ได้ที่ ปวด ป่วย อาย จาม "ถามMacy" เรายินดีให้คําปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพ